วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

หน่วยที่ 1 : ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานห้องสมุด

หัวเรื่อง
1.1  ความหมาย ความสำคัญและวัตถุประสงค์ของ
       ห้องสมุด
1.2  ประเภทของห้องสมุด
1.3  องค์ประกอบของห้องสมุดและลักษณะที่ดี
       ของห้องสมุด
1.4  ระเบียบและมารยาทการใช้ห้องสมุด
1.5  ประเภทงานของห้องสมุด
แนวคิด
1.  ห้องสมุดเป็นแหล่งรวมของวัสดุการอ่านทุกประเภท ดังนั้น
ห้องสมุดจึง  เปรียบเสมือน ตลาดวิชา ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เลือกศึกษาหาความรู้ และ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ตามความสนใจได้ตลอดเวลา ทำให้เป็นคนทันสมัย ทันโลก และส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
2.  ห้องสมุดโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ห้องสมุดประชาชน หอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดเฉพาะ
3.  ห้องสมุดที่ดีควรมีการจัดบริการที่สนองความต้องการของผู้ใช้อย่างกว้างขวาง ผู้ใช้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และสามารถใช้ห้องสมุดเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และมีทรัพยากรเพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐานของห้องสมุด
4.  ผู้ใช้บริการห้องสมุดทุกคนควรปฏิบัติตามแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อความเป็นระเบียบในการใช้ห้องสมุด
5.  ห้องสมุดแบ่งงานหลักออกเป็น 3 งานใหญ่ ได้แก่  งานบริหาร
งานเทคนิค และงานบริการ

ตอนที่ 1.1 
เรื่อง ความหมาย ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของห้องสมุด
คำว่า สมุด แต่เดิมในสมัยที่ยังไม่มีการพิมพ์หนังสือเป็นเล่มอย่างปัจจุบันนี้ เราสื่อความหมายถึงสมุดข่อยที่พับไปพับมา เมื่อเขียนหนังสือเต็มเล่มแล้ว เราเรียกว่า หนึ่งเล่มสมุดและจะมีบอกไว้ข้างท้ายว่า จบหนึ่งเล่มสมุดไท (คือสมุดที่พับไปพับมา)
คำว่า ห้องสมุด  บัญญัติมาจากคำว่า “Library”  มาจากภาษาลาตินว่า Liberia  หมายถึง ที่เก็บหนังสือ โดยมีรากศัพท์เดิมว่า Liber”  ซึ่งหมายความว่า หนังสือ
( ฉันทนา ชาญพาณิชย์. 2532 : 1)
ความหมายของห้องสมุดในปัจจุบัน
ห้องสมุด (Library) หมายถึง แหล่งรวบรวมสรรพวิทยาการต่างๆ ที่อยู่ในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ และโสตทัศนวัสดุ ซึ่งจัดเก็บอย่างมีระบบโดยมีบรรณารักษ์เป็นผู้ดำเนินการ
ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมวัสดุเพื่อการศึกษาค้นคว้าทุกชนิด ได้แก่ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ทุกชนิด ต้นฉบับ ตัวเขียน โสตทัศนวัสดุบางอย่าง เช่น  แผนที่ ลูกโลก แผ่นเสียง เทปบันทึกเสียง สไลด์ เป็นต้น วัสดุเหล่านี้มีหลักในการคัดเลือกให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ และให้ทันสมัยอยู่เสมอ
จัดตามระบบสากลให้ประโยชน์ได้โดยสะดวก อนุรักษ์ไว้ให้คงทน และเผยแพร่แนะนำเพื่อให้ได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำคัญของห้องสมุด
ห้องสมุดมีความสำคัญ ดังต่อไปนี้
1.      ห้องสมุดเป็นที่รวมแห่งวิทยาการต่างๆ ที่ผู้เข้าใช้จะเข้ามาศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ทุกแขนงวิชา
2.      ห้องสมุดเป็นที่ที่ทุกคนจะเลือกอ่านหนังสือและค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ได้โดยอิสระตามความสนใจของแต่ละบุคคล
3.      ห้องสมุดมีหนังสือที่ต้องการอ่านมากมาย ทำให้พอใจที่จะอ่านโดยไม่รู้จักจบสิ้น
4.      ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้มีความรู้ทันสมัย ความรู้กว้างไกล ทันโลกทันเหตุการณ์อยู่เสมอ
5.      ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีนิสัยรักการอ่าน รักการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
6.      ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
7.      ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้รับรู้ในสมบัติสาธารณะ รู้จักใช้ รู้จักระวังรักษาอย่างถูกต้อง
(ลมุล  รัตตากร.  2530 : 14-17 )

สรุปความสำคัญของห้องสมุด จากร้อยกรองคำประพันธ์ของ ฐะปะนีย์
 นาครทรรพ  ซึ่งเขียนเป็นคำขวัญแสดงให้เห็นความสำคัญของห้องสมุด ดังนี้
(ลมุล  รัตตากร.  2539 : 27 )

วัตถุประสงค์ของห้องสมุด
ห้องสมุดทุกประเภทมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานเหมือนกัน 5 ประการ คือ
1.      เพื่อการศึกษา (Education) ทั้งนี้เพราะการศึกษาในปัจจุบันส่งเสริมให้ผู้เรียน
รู้จักค้นคว้าด้วยตนเอง ห้องสมุดจึงเป็นสถานที่ที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.      เพื่อให้ความรู้และข่าวสาร ( Information) ห้องสมุดเป็นแหล่งวิทยาการสำหรับ
ศึกษาค้นคว้าวิชาการใหม่ๆ และติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกประเทศทั่วโลก ทำให้ผู้ใช้มีความรู้ทันต่อเหตุการณ์ของโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
3.      เพื่อการค้นคว้าวิจัย ( Research) ห้องสมุดเป็นแหล่งรวมวัสดุสารนิเทศต่างๆ
อย่างพร้อมมูลที่จะใช้ในการค้นคว้าหรือวิจัยเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาความรู้สาขาใหม่ๆ เพื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ
4.      เพื่อความจรรโลงใจ (Inspiration)  การอ่านหนังสือนอกจากจะได้รับความรู้แล้ว
ยังก่อให้เกิดความสุขทางใจ เกิดความชื่นชมและประทับใจในความคิดที่ดีงามของผู้อื่น ความไพเราะงดงามในศิลปะการเขียน
5.      เพื่อนันทนาการ (Recreation) การอ่านหนังสือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่ดีที่สุด
อย่างหนึ่ง เพราะผู้อ่านจะได้รับทั้งความเพลิดเพลินและความรู้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน
ตอนที่ 1.2 
เรื่อง ประเภทของห้องสมุด
ห้องสมุดสมัยแรกๆ จะอยู่ตามวัด โบสถ์ และวิหาร วัสดุสารนิเทศก็มิใช่เป็น
รูปแบบของหนังสือ แต่เป็นการเขียนไว้บนแผ่นดินเหนียว แผ่นหิน หรือม้วนกระดาษ
กิจการห้องสมุดในประเทศไทยสันนิษฐานว่าเริ่มต้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  วัสดุการอ่านชิ้นแรกของไทย คือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเข้าใจว่าจารึกภายหลังปี พ.ศ. 1826 เป็นปีที่ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ต่อมาพระมหาธรรมราชาลิไทได้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง ไตรภูมิพระร่วงขึ้น ทรงได้ค้นคว้าจากพระคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาหลายเล่ม จึงเข้าใจว่าสมัยนั้นคงจะมีห้องสมุดบ้างแล้ว ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฏหลักฐานว่ามีหอหลวงและหอไตรสำหรับเก็บรวบรวมหนังสือและในสมัยนี้มีวรรณกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีการจัดตั้งหอไตรหรือหอพระไตรปิฎก ซึ่งอาจเป็นห้องสมุดประเภทแรกของไทย

ประเภทของห้องสมุดในประเทศไทย
ห้องสมุดในประเทศไทยโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1.      ห้องสมุดโรงเรียน (School Library)
2.      ห้องสมุดวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย หรือห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา
 (Academic Library)
3.      หอสมุดแห่งชาติ (Nation Library)
4.      ห้องสมุดประชาชน (Public Library)
5.      ห้องสมุดเฉพาะ (Special Library)

ตอนที่ 1.3  องค์ประกอบของห้องสมุด และลักษณะของห้องสมุดที่ดีองค์ประกอบของห้องสมุด
การดำเนินงานห้องสมุดให้บรรลุจุดประสงค์ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญของห้องสมุดหลายประการ ซึ่งได้แก่
1.      อาคารสถานที่
2.      วัสดุของห้องสมุด
3.      ครุภัณฑ์
4.      บุคลากร
5.      งบประมาณ
6.      การบริการ

1.  อาคารสถานที่ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของห้องสมุด เพราะเป็นที่รวบรวม สิ่งพิมพ์ และโสตทัศนวัสดุ เป็นสิ่งที่ผู้ใช้ห้องสมุดได้เข้ามาอ่านหนังสือ และศึกษาค้นคว้า และทำกิจกรรมต่างๆ ดังนั้น การจัดตั้งห้องสมุดจึงควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1.1  สถานที่ตั้ง ควรตั้งอยู่ในที่ศูนย์กลาง     ซึ่งผู้ใช้จะไปมาได้สะดวก ปราศจากเสียงรบกวนและมีแสงสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทได้สะดวก และควรเป็นที่ซึ่งสามารถขยายออกไปได้ในภายหน้า
1.2  ลักษณะของอาคาร อาจจะเป็นอาคารเอกเทศ  หรือเป็นส่วนหนึ่งของอาคารก็ได้ แต่ควรออกแบบให้ได้ประโยชน์ ทั้งในการใช้สอยและความสวยงาม มีความทนทานแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักทั้งหนังสือ วัสดุ ครุภัณฑ์ได้
1.3  ขนาดและเนื้อที่ของห้องสมุด                 สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ เมื่อพ.ศ. 2511 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2512 ว่า โรงเรียนมัธยมศึกษาควรมีห้องสมุดขนาด 2 ห้องเรียน
2.  วัสดุของห้องสมุด หมายถึงสิ่งที่ห้องสมุดจัดหามาไว้เพื่อบริการผู้ใช้ห้องสมุด แยกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1  วัสดุตีพิมพ์  ได้แก่ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ จุลสาร กฤตภาค ซึ่งห้องสมุดจัดหามาให้สอดคล้องกับหลักสูตร
2.2  วัสดุไม่ตีพิมพ์  ได้แก่ โสตทัศนวัสดุต่างๆ เช่น ภาพ แผนภูมิ แผนที่ ลูกโลก หุ่นจำลอง เทปเสียง ภาพเลื่อน เครื่องฉายภาพยนตร์ เป็นต้น

3. ครุภัณฑ์  หมายถึง วัสดุทนทานต่างๆ ของห้องสมุดที่จะอำนวยความสะดวก ในการเก็บหนังสือ และให้บริการแก่ผู้ใช้ ได้แก่
3.1   ชั้นวางหนังสือ
3.2   ชั้นวางนิตยสาร และหนังสือพิมพ์
3.3   ตู้จุลสาร
3.4   ตู้บัตรรายการ
3.5   ตู้เก็บของ
3.6   ตู้และป้ายนิทรรศการ
3.7   โต๊ะ และเก้าอี้สำหรับนั่งอ่านหนังสือ
3.8   โต๊ะทำงานบรรณารักษ์
3.9   ที่รับ จ่ายหนังสือ
3.10 รถเข็นหนังสือ
3.11  อ่างล้างมือ
            ฯลฯ
นอกจากนี้ห้องสมุดยังจำเป็นต้องมีเครื่องใช้ต่างๆ ในการดำเนินงานอีกมากมาย เช่น ที่กั้นหนังสือ ป้ายบอกหมวดหมู่หนังสือ กล่องใส่บัตร อุปกรณ์ซ่อมหนังสือ อุปกรณ์จัดนิทรรศการ วัสดุตกแต่งห้องสมุด เป็นต้น
4. บุคลากร หมายถึง ผู้ปฏิบัติการในห้องสมุด ซึ่งได้แก่ บรรณารักษ์ พนักงาน พิมพ์ดีด เจ้าหน้าที่ นักการภารโรง เป็นต้น สำหรับห้องสมุดโรงเรียนมัธยมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ ไว้ดังนี้
4.1  ครูหรืออาจารย์ทำหน้าที่บรรณารักษ์ มีวุฒิอย่างต่ำอนุปริญญาบรรณารักษศาสตร์ หรือประกาศนียบัตรชั้นสูงวิชาเฉพาะบรรณารักษศาสตร์ หรือ ศิลปศาสตร์บัณฑิต ที่เรียนวิชาบรรณารักษศาสตร์เป็นวิชาเอก
4.2  ครูทำหน้าที่ผู้ช่วยบรรณารักษ์ มีวุฒิประกาศนียบัตรหลักสูตรครูบรรณารักษ์ของกระทรวงศึกษาธิการ
4.3  เจ้าหน้าที่ช่วยงานห้องสมุด มีวุฒิประกาศนียบัตรอาชีวศึกษาชั้นสูง พิมพ์ดีดได้ทั้งไทยและอังกฤษ
4.4  คนงานดูแลทำความสะอาด และช่วยงานตามคำสั่งของบรรณารักษ์

5. งบประมาณ  เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานและการบริการของห้องสมุดเป็นไปด้วยความราบรื่น งบประมาณจะต้องได้รับจัดสรรให้เพียงพอและมีเป็นประจำ งบประมาณอาจได้รับจากรัฐบาลโดยผ่านทางกระทรวงเจ้าสังกัด เรียกว่างบประมาณแผ่นดิน และได้จากงบประมาณผลประโยชน์ซึ่งได้จากสถาบันหรือสถานศึกษาที่ได้รับอนุญาตให้เก็บจากนักเรียนนักศึกษา จากค่าปรับต่างๆ หรือจากมีจิตศรัทธาบริจาคให้ห้องสมุด

6.  การบริการ หมายถึง สิ่งที่ห้องสมุดจัดให้เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ใน   ด้านหนังสือ สิ่งพิมพ์ และวัสดุอื่นๆ เนื่องจากห้องสมุดเป็นแหล่งสำคัญ ที่จะปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน บริการที่สำคัญได้แก่ บริการให้ยืมหนังสือ บริการหนังสือจอง บริการตอบคำถามช่วยการค้นคว้า บริการแนะแนวการอ่าน เป็นต้น

 
 
 

เนื้อหาหน่วยการเรียนรู้ รายวิชา ง 30283 งานห้องสมุด

เนื้อหาหน่วยการเรียนรู้ รายวิชา ง 30283 งานห้องสมุด
ประกอบด้วย
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1  ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานห้องสมุด
หน่วยการเรียนรู้ที่ 2  บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานห้องสมุด
หน่วยการเรียนรู้ที่ 3  ทรัพยากรสารนิเทศห้องสมุดและการเตรียมออกบริการ
หน่วยการเรียนรู้ที่ 4  หมวดหมู่หนังสือและการจัดเรียงหนังสือบนชั้น
หน่วยการเรียนรู้ที่ 5  ครุภัณฑ์ห้องสมุดและการจัดตกแต่งห้องสมุด
หน่วยการเรียนรู้ที่ 6  แหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษาค้นคว้าและการเขียนรายงาน
หน่วยการเรียนรู้ที่ 7  กิจกรรมห้องสมุดและการประชาสัมพันธ์ห้องสมุด
หน่วยการเรียนรู้ที่ 8  การดูแลระวังรักษาหนังสือและการซ่อมหนังสือ
หน่วยการเรียนรู้ที่ 9  การสำรวจและการจำหน่ายหนังสือห้องสมุด
หน่วยการเรียนรู้ที่ 10  แนวทางการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดด้วยหลัก
                                    เศรษฐกิจพอเพียง

รายงานการพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน วิชา ง 30283 งานห้องสมุด สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ  (1) เพื่อพัฒนาการใช้เอกสารประกอบการเรียนวิชา ง 30283 งานห้องสมุด ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการศึกษาเอกสารประกอบการเรียนวิชา ง 30283                             งานห้องสมุด
(3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการใช้เอกสารประกอบการเรียนวิชา ง 30283 งานห้องสมุด  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มที่ 2 โรงเรียนสิชลคุณาธารวิทยา      อำเภอสิชล    จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เรียนวิชา ง 30283 งานห้องสมุด ปีการศึกษา 2551 จำนวน 38 คน ได้มาโดยสุ่ม 1 ห้องเรียน (Sampling Unit)  เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย เอกสารประกอบการเรียนวิชา ง 30283 งานห้องสมุด       แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเอกสารประกอบการเรียนวิชา ง 30283 งานห้องสมุด        แบบสอบถามวัดความพึงพอใจต่อการใช้เอกสารประกอบการเรียนวิชา ง 30283 งานห้องสมุด สถิติที่ใช้คือค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าทีของกลุ่มตัวอย่าง

ผลการศึกษาพบว่า
1.   เอกสารประกอบการเรียน       วิชา ง 30283       งานห้องสมุด          ที่ได้พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ    เฉลี่ย  82.01 / 80.66
2.   ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน      หลังจากศึกษาเอกสารประกอบการเรียนวิชา ง 30283 งานห้องสมุด  สูงกว่าก่อนศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .01
3.   นักเรียนที่ได้ศึกษาเอกสารประกอบการเรียน วิชา ง 30283 งานห้องสมุด   มีความพึงพอใจต่อเอกสารประกอบการเรียนทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านเนื้อหา ด้านกิจกรรมการเรียน ด้านรูปแบบการนำเสนอ และด้านผลที่นักเรียนได้รับอยู่ในระดับมาก